บัว ไม่เคยมีปรากฏว่าบานในใต้น้ำ ต่อเมื่อบัวนั้นพ้นน้ำได้แล้วจึงสามารถบานได้ ทรงเปรียบคนไว้ ๔ ประเภท ดั่งดอกบัว คือ ประเภทบัวพ้นน้ำ สามารถบรรลุธรรมโดยง่าย ประเภทบัวปริ่มน้ำ พยายามอีกหน่อย ก็สามารถบรรลุได้เช่นกัน ประเภทบัวในน้ำ ต้องเคี่ยวเข็น พยายามอย่างหนักเข้า ก็ยังมีโอกาสบรรลุ ประเภทบัวใต้น้ำใต้ตม ต้องปล่อยไปเป็นอาหารของสัตว์ และอีกอย่าง พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำว่า ธรรมของพระองค์ที่ทรงสอน ผู้ที่จะเรียนได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ข้อ ๑. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก ข้อ ๒. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้สันโดษ ไม่ใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ ข้อ ๓. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้สงบสงัดจากหมู่คณะ ไม่ใช่ของบุคคลผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ข้อ ๔. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีความปรารภความเพียร ไม่ใช่ของบุคคลผู้ไม่ปรารภความเพียร ข้อ ๕. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีสติมั่น ไม่ใช่ของบุคคลผู้มีสติเลื่อนลอยหลงลืม ข้อ ๖. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ใช่ของบุคคลผู้มีใจไม่เป็นสมาธิ ข้อ ๗. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของบุคคลผู้ทรามปัญญา ข้อ ๘. ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า คุณสมบัติ ๘ ประการนี้ เหมือนอย่างการรับนักเรียนเข้าเรียน ถ้าคุณสมบัติของนักเรียนไม่ครบตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ ก็ไม่สามารถรับเข้าเรียนได้ ถึงรับเข้ามาเรียนก็คงสอบตกซ้ำชั้นอยู่อย่างนั้น เหมือนดั่งบัว ประเภท ปทะปรมะ นั่นแล บางส่วนจากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชฯ ( เกิดมาแล้ว ก็ขออย่าได้เป็นบัวใต้ตม บ่มเพาะคุณสมบัติทั้ง ๘ ประการให้ครบถ้วนกันเถิดนะขอรับ )
ที่มา : thammaonline.com